วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หลักการจัดการทั่วไป รายวิชาเศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน


รายวิชาเศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน

หลักการจัดการทั่วไป
อ.กฤษณี  สระมุณี
o   วัตถุประสงค์
1)      เข้าใจความหมายของคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ
2)      เข้าใจหน้าที่และองค์ประกอบหลักของการจัดการ
3)      อธิบายคุณสมบัติของผู้บริหารที่ดีได้
4)      เข้าใจทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
o   บทนำ: ทำไมต้องเรียนรู้หลักการจัดการทั่วไป?
มนุษย์ทุกคนต้องอาศัยอยู่ร่วมกันบนโลก ต้องยอมรับความจริงว่าคนเราไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่คนเดียวเพียงลำพังได้ เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นมาตั้งแต่ในครอบครัว เพื่อนบ้าน โรงเรียน มหาวิทยาลัย จนกระทั่งเมื่อทำงานในสำนักงานหรือองค์กรต่าง ๆ จากภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมส่งผลให้การดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน มีการแข่งขันเพื่อนำไปสู่ความเป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ ดังนั้นนิสิตจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันให้ได้
การเรียนรู้ถึงหลักการบริหารจัดการเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราดำรงชีพอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการดำเนินชีวิต หรือการทำงาน ที่กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่านิสิตจะต้องมีความคิดที่อยากจะแข่งขันเพื่อเอาชนะหรือเป็นผู้นำเสมอ แต่นิสิตต้องเรียนรู้เพื่อให้เรามีความเท่าทันต่อโลก ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถนำหลักการต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างชาญฉลาด และมีคุณธรรม
o   การจัดการคืออะไร?
คนเราส่วนใหญ่จะต้องใช้ทักษะในการบริหารจัดการเมื่ออยู่ร่วมกันกับคนอื่น ๆ เช่น การทำงานกลุ่มตามที่อาจารย์มอบหมาย การจะเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัว การทำงานในกลุ่มงานเภสัชกรรม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเราต้องใช้ทักษะนี้มากเมื่ออยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม หรือทำงานในองค์กร
การจัดการ (Management) หมายถึง กระบวนการที่ทำให้องค์กรดำเนินกิจการบรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยอาศัยหน้าที่หลัก 4 ประการ คือ การวางแผน (Planning) การจัดองค์กร (Organizing) การนำ (Leading) และ การควบคุม (Controlling)  ในบางครั้งเราอาจได้ยินคำว่า การบริหาร แทนคำว่า การจัดการ ซึ่งความจริงแล้วคำสองคำนี้มีความความหมายเหมือนกัน เพียงแต่คำว่า การจัดการ (Management) นิยมใช้ในภาคธุรกิจ ส่วนคำว่า การบริหาร (Administration) นิยมใช้ในองค์กรของรัฐ และจะเรียกผู้รับผิดชอบว่า ผู้จัดการ (Manager) ในภาคธุรกิจ และเรียก ผู้บริหาร (Administrator) ในองค์กรภาครัฐ
Massie & Douglas (1981) (อ้างถึงใน วิโรจน์ สารรัตนะ, 2542) ได้แสดงทัศนะว่า การบริหารเป็นได้ทั้งศิลป์ (art) ศาสตร์ (science) และอาชีพ (profession) กล่าวโดยสรุปคือ นักบริหารเป็นอาชีพหนึ่งที่เกิดจากการได้ทดลองใช้หรือลงมือปฏิบัติจริง (art) ในเรื่องทักษะต่าง ๆ ทางด้านบริหารที่มีการคิดค้นทฤษฎีหรือแนวคิด (science) ไว้มากมาย
o   หน้าที่ของการจัดการมีอะไรบ้าง?
การวางแผน (Planning) คือ กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเป้าหมายขององค์กร การตัดสินใจเลือกวิธีการดำเนินงานที่ดีที่สุดที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น เช่น ร้านยามหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่จะขยายแหล่งฝึกงานของนิสิตจึงตัดสินใจขยายสาขาเพิ่มอีกหนึ่งสาขา โดยเปิดดำเนินการในชุมชนท่าขอนยาง ขามเรียง เป็นต้น
การจัดการอย่างเป็นระบบ (Organising) คือ กระบวนการที่มุ่งเน้นไปในส่วนการจัดการทรัพยากรทั้งด้านบุคคล วัสดุ และสินค้า เพื่อให้การดำเนินงานผ่านไปได้ด้วยดี และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เช่น การกำหนดว่าเราต้องทำอะไรบ้าง หน้าที่ไหนที่สามารถทำร่วมกันได้ งานนี้ควรมอบหมายให้ใครรับผิดชอบ เป็นต้น
ภาวะผู้นำ (Leading) คือ กระบวนการการจูงใจ ชักนำ เหนี่ยวนำ ให้ผู้ร่วมงานมาทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร คุณสมบัติของภาวะผู้นำ ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร สรุปสิ่งที่ต้องทำ กำหนดทิศทาง กระตุ้นให้เกิดการทำงาน
การควบคุม (Controlling) คือ กระบวนการควบคุมการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลงานที่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งคนที่เป็นผู้จัดการจะต้องทำหน้าที่ในการติดตามกิจกรรมที่ดำเนินไป เปรียบเทียบผลงานว่าตรงกับมาตรฐานหรือไม่ หรือติดตามว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ และดำเนินการในสิ่งที่จำเป็น

 









ภาพที่ 1  หน้าที่หลักของการจัดการ (ปรับปรุงจาก Bartol KM and Martin AC, 1998)

o   ระดับของผู้บริหาร
ผู้บริหารแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
1)      ผู้บริหารระดับสูง: รับผิดชอบต่อองค์กรทั้งหมด
2)      ผู้บริหารระดับกลาง: รับผิดชอบต่อผู้บริหารระดับต้นที่อยู่ใต้สังกัด
3)      ผู้บริหารระดับต้น: รับผิดชอบต่อผู้ปฏิบัติงานในสังกัด
o   คุณสมบัติของการเป็นผู้จัดการที่ดี
ผู้ที่เป็นผู้จัดการนอกจากจะต้อง วางแผนเป็น มีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีภาวะความเป็นผู้นำ และมีการควบคุมติดตามงานที่ดีแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติอีก 3 ประการ
พื้นฐานความรู้ (Knowledge base) พื้นฐานความรู้ที่ว่านี้จะหมายรวมถึงความรู้ทางด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี นโยบายขององค์กร เป้าหมายองค์กร วัฒนธรรมองค์กร สมาชิกในองค์กร คู่ค้า (Suppliers) ลูกค้า เป็นต้น
ทักษะทางการบริหาร (Management skills) ผู้จัดการต้องมีทักษะต่าง ๆ ที่ปรับให้พฤติกรรมของบุคลากรที่หลากหลายสามารถทำงานร่วมกันได้และก่อให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 3 ทักษะ ได้แก่
(1)       ทักษะทางเทคนิค (Technical Skills) ผู้จัดการต้องมีความเข้าใจและชำนาญในเรื่อง การบัญชี การเงิน วิศวกรรม การผลิต และคอมพิวเตอร์
(2)       ทักษะด้านบุคคล (Human skills) ผู้จัดการต้องมีความสามารถในการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นในฐานะเพื่อนร่วมงาน หรือผู้นำ โดยจะต้องสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน และขับเคลื่อนเพื่อนร่วมงานให้ร่วมกันทำงานจนบรรลุเป้าหมาย
(3)       ทักษะด้านการสรุปความคิด (Conceptual skills) ผู้จัดการต้องมีความสามารถในการสรุปแนวคิดหรือความคิดได้ดี และต้องเข้าใจว่าองค์กรจะต้องเดินไปในทิศทางใด
การบรรลุผลสำเร็จ (Performance) ผู้จัดการจะต้องเลือกวิธีการดำเนินงานที่มีทั้งประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness)
ประสิทธิภาพ (Efficiency) วัดจากทรัพยากรที่ใช้ (Input) กับผลผลิต (Output) ที่ได้ ถ้าได้ผลผลิตมาโดยใช้ทรัพยากรน้อย หรือประหยัดที่สุดก็ถือว่ามีประสิทธิภาพ
ประสิทธิผล (Effectiveness) วัดจากความสามารถในการบรรลุเป้าหมายขององค์กรซึ่งมักเป็นในระยะยาว บางครั้งการปฏิบัติงานอาจมีประสิทธิภาพแต่ไม่มีประสิทธิผล หากองค์กรใดสามารถบรรลุทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล แสดงว่าองค์กรนั้นมีผลิตภาพสูง (High Productivity)

o   ผู้บริหารกับสภาพแวดล้อมองค์กร
ผู้บริหารต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมองค์กร 2 ลักษณะคือ
1)      สภาพแวดล้อมภายใน (internal environment) หมายถึง สภาพทั่วไปที่ดำรงอยู่ภายในองค์กร อาจเรียกว่า วัฒนธรรมองค์กร (organizational culture) ได้แก่ ค่านิยม สมมติฐาน ความเชื่อ ปทัสฐาน ที่คนในองค์กรยึดถือร่วมกัน
2)      สภาพแวดล้อมภายนอก (external environment) หมายถึง พลังจากภายนอกที่ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการบริหารองค์กร มี 2 ลักษณะ คือ สภาพแวดล้อมทั่วไป ได้แก่ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมืองและกฎหมาย วัฒนธรรม ด้านความเป็นสากล และสภาพแวดล้อมในงาน ได้แก่ ลูกค้า ผู้บริการ คู่แข่ง กลุ่มทางการเมือง การพัฒนาเทคนิค 
o   จริยธรรมทางการบริหาร
หมายถึง มาตรฐานของการปฏิบัติงานหรือการประเมินเชิงคุณธรรมที่ผู้บริหารใช้ในการบริหารองค์กร มาตรฐานนี้มักมีพื้นฐานจากปทัสฐานและค่านิยมทางสังคม จากภูมิหลังทางครอบครัว จากศาสนา จากสถาบันการศึกษาหรือสถาบันอื่น และจากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลในสังคม ซึ่งพื้นฐานที่แตกต่างกันนี้ แสดงให้เห็นว่าบุคคลจะมีจริยธรรมทางการบริหารที่แตกต่างกัน จริยธรรมทางการบริหารแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1)      ระดับขาดจริยธรรม (immoral / unethical)
2)      ระดับละเลยจริยธรรม (amoral)
3)      ระดับมีจริยธรรม (moral)
ในปัจจุบันการบริหารในระดับละเลยจริยธรรมเป็นไปอย่างกว้างขวาง แต่ในอนาคตการบริหารในระดับมีจริยธรรมจะมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างกฎที่สามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานการณ์ O’Toole (1985) ได้เสนอหลักการที่จะช่วยให้บุคคลคำนึงถึงจริยธรรมในการบริหาร ได้แก่ หลักการเคารพกฎหมาย หลักการพูดแต่ความจริง หลักการให้เกียรติคนอื่น หลักการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเป็นธรรม (เหมือนกับที่ผู้บริหารต้องการได้รับจากองค์กร) หลักการไม่ทำร้ายกลั่นแกล้ง หลักการเรียนรู้ถึงความต้องการของคนอื่นแทนการยัดเยียดให้ และหลักการความรับผิดชอบที่จะให้ความช่วยเหลือ
o   แผนการทำงาน (Work Agenda)
ในการดำเนินงานไม่ว่าในกิจการใด ๆ ผู้จัดการจะต้องวางแผนหรือร่างกำหนดการว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เราเรียกว่า แผนการทำงาน หรือ “Work Agenda” ซึ่งหมายถึง การรวบรวมเป้าหมายต่าง ๆ ที่องค์กรกำหนดไว้มาสรุปเป็นสิ่งที่หน่วยงานต้องทำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยการระบุให้ชัดเจนถึงสิ่งที่ต้องทำ หน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคน ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน
ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงสำหรับแผนการทำงาน ได้แก่
ความต้องการ (Demands) คือ วัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายที่องค์กรต้องการให้ผู้จัดการดำเนินการและทำให้สำเร็จนั่นเอง เช่น ต้องเพิ่มยอดขายให้ได้ 10% ภายในปีนี้ เป็นต้น
ข้อจำกัด (Constraints) คือ ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคหรือปัญหา ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายงานได้ยากขึ้น ซึ่งต้องคำนึงถึงทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน เช่น ทรัพยากรที่จำกัด (กำลังคน เงิน วัสดุ) ข้อบังคับทางกฎหมาย สัญญาระหว่างองค์กร เทคโนโลยี เป็นต้น
ทางเลือก (Choices) คือ แนวทางหรือวิธีการทำงานที่เป็นไปได้ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของงาน ในบางครั้งการจะทำงานให้สำเร็จอาจมีวิธีการทำให้บรรลุผลได้หลายวิธีการ ซึ่งผู้จัดการจะต้องตัดสินใจเลือกว่าเราจะใช้วิธีใดโดยคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ
o   ทฤษฎีของการบริหารจัดการ
การเป็นผู้บริหารที่มีประสิทธิผลในองค์กร ผู้บริหารจำเป็นต้องมีความรู้ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร เช่น เศรษฐกิจ การเมือง สังคม เพื่อให้ทราบผลกระทบต่อองค์กร และต้องมีความเข้าใจในตัวพนักงานและบุคคลต่าง ๆ เพราะผู้บริหารจะต้องทำงานร่วมกับผู้คนมากมาย นอกจากศาสตร์และความสามารถทางด้านการจัดการแล้ว ผู้บริหารต้องมีความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
-          มานุษยวิทยา (Anthropology) เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมและสังคม
-          เศรษฐศาสตร์ (Economics) เป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้กับความต้องการที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด
-          ปรัชญา (Philosophy) ศึกษาธรรมชาติของสรรพสิ่ง ค่านิยม และจริยธรรม
-          รัฐศาสตร์ (Political science) ศึกษาผลกระทบจากการเมืองและกฎหมายต่อกลุ่มและองค์กร
-          จิตวิทยา (Psychology) ศึกษา อธิบายการเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ในองค์กร
-          สังคมวิทยา (Sociology) ศึกษาความเป็นอยู่ในสังคมมนุษย์และความสัมพันธ์กับเพื่อร่วมงานในองค์กร
ทฤษฎีทางการบริหารเพิ่งเริ่มมีความชัดเจนในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมต้นศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีโรงงานเกิดขึ้นมากมาย มีความจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการเพื่อประสานให้คนงานสามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้ นักบุกเบิกทฤษฎีทางการบริหารที่สำคัญ ได้แก่
1)      Robert Owen: เป็นนักประกอบการชาวอังกฤษ ได้สร้างแนวคิดการจัดสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของคนงาน แม้จะได้รับการคัดค้านจากเจ้าของโรงงานรายอื่น ๆ แต่ถือว่าเป็นพื้นฐานของแนวคิดการบริหารเชิงมนุษยสัมพันธ์ในระยะหลัง
2)      Charles Babage เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่สร้างเครื่องคำนวณและเครื่องวิเคราะห์จักรกลที่เป็นชิ้นส่วนพื้นฐานของคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ เป็นเจ้าของแนวคิดการแบ่งงานกันทำเชิงจิตภาพ (mental work) และเสนอแนวคิดการให้รางวัลแบบปันผลกำไร
3)      Henry Towne เป็นนักวิศวกรที่ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศาสตร์ทางการบริหาร
ทฤษฎีทางการบริหารที่เกี่ยวข้อง
o   ทฤษฎีการบริหารทัศนะดั้งเดิม (Classical viewpoint)
1)      ทฤษฎีการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific management) เกิดขึ้นในช่วงที่โรงงานอุตสาหกรรมเริ่ม
มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว นักทฤษฎีที่สำคัญ ได้แก่
Frederick W. Taylor ถือว่าเป็นบิดาแห่งการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ โดยเชื่อว่าปัญหาคนงานที่ทำงานไม่เต็มศักยภาพนั้นสามารถแก้ไขได้โดย
-          กำหนดวิธีการทำงานที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันการทำงานแบบลองผิดลองถูก
-          ให้มีการวางแผนงาน
-          คัดเลือกคนงานที่มีความสามารถ แล้วฝึกอบรม และพัฒนา
-          แบ่งงานกันทำระหว่างผู้บริหารและคนงานตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ Taylor ยังเชื่อว่า เงิน เป็นปัจจัยจูงใจที่สำคัญ คนที่ทำงานได้เกินมาตรฐานที่กำหนดจะได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างปกติ
Frank and Lillian Gilbreth คู่สามีภรรยาสนับสนุนหลักการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ โดย Frank ได้ศึกษาวิธีการขจัดส่วนที่ไม่จำเป็นในการทำงานออก และสำรวจหาวิธีการที่จะลดความเหนื่อยล้าในการทำงานลง ส่วน Lillian เสนอแนวคิดว่าการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ต้องมีทั้งการวิเคราะห์และการสังเคราะห์ กล่าวคือ ต้องวิเคราะห์องค์ประกอบของงานก่อนเพื่อขจัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก แล้วจึงสังเคราะห์องค์ประกอบที่จำเป็นเข้าด้วยกันใหม่เพื่อให้ได้วิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
Henry Gantt เป็นผู้ช่วยที่ใกล้ชิดของ Taylor เจ้าของผลงาน Gantt chart ที่ยังมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เขาเสนอแนวคิดการจ่ายค่าจ้างเพื่อการจูงใจว่า นอกจากจะจ่ายค่าจ้างพิเศษให้คนงานที่ทำงานเกินมาตรฐานแล้ว ควรจะจ่ายโบนัสเป็นรางวัลให้แก่หัวหน้าคนงานอีกด้วย
2)      ทฤษฎีการจัดการเชิงบริหาร (Administrative management) มีหลักการให้นักบริหารเป็นผู้ประสาน
กิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กรเข้าด้วยกัน ปฏิบัติหน้าที่พื้นฐานด้านการวางแผน การจัดองค์กร และการควบคุม นักทฤษฎีที่สำคัญ ได้แก่
Henry Fayol เป็นนักอุตสาหกรรมชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีความเชื่อว่าผู้บริหารสามารถได้รับการฝึกอบรมเพื่อเป็นผู้บริหารที่ประสบผลสำเร็จได้หากเข้าใจหน้าที่พื้นฐานและหลักการบริหารดีพอ แนวคิดการบริหารของเขา คือ กำหนดหน้าที่ที่จำเป็นสำหรับองค์กรที่จะทำให้บรรลุจุดหมาย และจัดกลุ่มงานเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพการทำงาน แต่ช่วยลดค่าใช้จ่ายลง Fayol ได้พัฒนาหลักการบริหาร 14 ประการ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการฝึกอบรมดีพอจะทำให้ได้ผู้บริหารที่ดี ซึ่งเป็นหลักที่ถูกนำไปใช้แพร่หลาย ได้แก่
-          หลักการแบ่งงานกันทำตามความถนัดหรือความชำนาญ
-          หลักการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชา ควบคู่กับความรับผิดชอบ
-          หลักการเกี่ยวกับมีระเบียบวินัย
-          หลักความเป็นเอกภาพในการบังคับบัญชา ผู้ปฏิบัติรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเพียงคนเดียว
-          หลักความเป็นเอกภาพในทิศทาง ทุกกิจกรรมต้องมุ่งบรรลุจุดหมายขององค์กร
-          หลักความยุติธรรมต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
-          หลักการรวมศูนย์อำนาจ ผู้บริหารมีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ผู้ปฏิบัติก็ควรมีอำนาจอย่างเพียงพอด้วย
-          หลักการมีสายบังคับบัญชาจากบนลงล่าง มีเส้นทางการติดต่อสื่อสารด้วย โดยปกติแสดงเป็นแผนภาพ
-          หลักความเป็นระเบียบแบบแผน วัสดุอุปกรณ์และผู้ปฏิบัติควรให้อยู่ในที่เหมาะสม สะดวกต่อการใช้งาน โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติควรรับผิดชอบงานหรืออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
-          หลักความเสมอภาค เป็นมิตรและมีความยุติธรรมต่อผู้ปฏิบัติ
-          หลักความมั่นคงในการทำงาน
-          หลักความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
-          หลักความสามัคคีหรือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
Chester I. Barnard เป็นผู้ให้ทัศนะเกี่ยวกับทฤษฎีการยอมรับอำนาจหน้าที่ว่า อำนาจหน้าที่นั้นแท้จริงแล้วมิได้อยู่ที่ผู้มีอำนาจในการออกคำสั่ง แต่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติว่าจะยินยอมรับคำสั่งมากน้อยเพียงใด เนื่องจากผู้ปฏิบัติอาจปฏิเสธคำสั่งใด ๆ ที่เขาเห็นว่าไม่ต้องใส่ใจ และเขาเห็นว่าการจูงใจด้านสังคมและจิตวิทยา จะมีความสำคัญยิ่งกว่าการจูงใจด้านเศรษฐกิจหรือกายภาพ
3)      ทฤษฎีการบริหารแบบราชการ (Bureaucratic management) เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่เน้นถึงความจำเป็นของการจัดองค์กรอย่างเป็นเหตุเป็นผลไม่ปล่อยให้เป็นไปตามอำเภอใจของผู้บริหาร ซึ่งเป็นแนวคิดของ Max Weber มีหลักสำคัญ 7 ประการ ดังนี้
-          หลักการมีกฎและระเบียบข้อบังคับเพื่อควบคุมการตัดสินใจ
-          หลักความไม่เป็นส่วนตัว ผู้บริหารต้องอยู่ภายใต้กฎและระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ปลอดจากการกระทำตามอำเภอใจ
-          หลักการแบ่งงานกันทำตามความถนัดหรือความชำนาญเฉพาะทาง
-          หลักการมีโครงสร้างสายบังคับบัญชา
-          หลักความเป็นอาชีพที่มั่นคง
-          หลักการมีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจโดยมีกฎระเบียบข้อบังคับรองรับ
-          หลักความเป็นเหตุผลในกระบวนการตัดสินใจเพื่อบรรลุจุดหมาย

o   ทฤษฎีการบริหารทัศนะเชิงพฤติกรรม (Behavioral viewpoint)
1)      นักพฤติกรรมระยะเริ่มแรก
Hugo Munsterberg เป็นชาวเยอรมันซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาอุตสาหกรรม กล่าวว่าในวงการอุตสาหกรรมสามารถนำเอาหลักจิตวิทยาไปใช้ได้ 3 แนวทาง คือ
-          ใช้กับการวิเคราะห์งานและการพัฒนาวิธีการจำแนกคนงานให้เหมาะสมกับงานเฉพาะทาง
-          ใช้กับหลักการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทานของคนงาน (เช่น ปัจจัยเชิงจิตวิทยา)
-          ใช้ในการศึกษาหาวิธีการที่จะทำให้คนงานมีพฤติกรรมสอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร
Mary Parker Follett ให้ความสนใจเรื่องการจ้างงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับอิทธิพลของกลุ่มต่อการทำงานในองค์กร นอกจากนี้ยังมีแนวคิดว่าองค์กรควรมีการปฏิบัติงานที่เป็นแบบมีอำนาจร่วมกัน (power with) มากกว่ามีอำนาจเหนือกว่า (power over) ดังนั้นควรมีการพัฒนาการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างนักบริหารกับผู้ปฏิบัติมากกว่าจะเป็นแบบสายบังคับบัญชา แก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่เป็นที่พึงพอใจของทั้งสองฝ่าย
2)      การศึกษาที่ฮอว์ธอร์น ผู้นำของของการศึกษานี้คือ Elton Mayo ชาวออสเตรเลีย เป็นการศึกษาเพื่อ
ปรับปรุงเครื่องมือและวิธีการทำงานตามทัศนะการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ โดยได้กำหนดสิ่งจูงใจไว้ล่วงหน้าในการเร่งการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ คาดไว้ว่าถ้ามีคนใดผลิตช้ากว่าคนอื่นกลุ่มคงจะกดดันให้คน ๆ นั้นเร่งผลิตให้ทันเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นและได้รับสิ่งจูงใจ แต่ผลปรากฏว่ากลุ่มคนงานไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนในส่วนที่จะผลิตได้เกินมาตรฐาน แต่ได้จำกัดจำนวนการผลิตของตนเองโดยไม่สนใจสิ่งจูงใจ ผลที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ (informal group) ซึ่งมีพื้นฐานจากความรู้สึกด้านจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างคนงานด้วยกันเอง จึงได้ข้อสรุปเกี่ยวกับ ความเป็นมนุษย์สังคม (social man) ของคนงานที่ต้องการสิ่งจูงใจด้านสังคมมาทดแทนความเป็นมนุษย์เศรษฐกิจ (economic man) ที่ต้องต้องการสิ่งจูงใจทางด้านเศรษฐกิจและกายภาพ
3)      ความเคลื่อนไหวเชิงมนุษย์สัมพันธ์  จากการศึกษาที่ฮอว์ธอร์นซึ่งพบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทาง
สังคม แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารจำเป็นต้องมีทักษะเชิงมนุษย์สัมพันธ์เพิ่มขึ้นจากทักษะเชิงเทคนิค และจำเป็นต้องใจวิธีการที่จะทำให้คนงานพึงพอใจให้มากขึ้น ต่อมาก็มีนักวิชาการท่านอื่น ๆ ได้เสนอแนวคิดไว้ ได้แก่
Abraham Maslow ได้พัฒนาทฤษฎีการจูงใจที่มีสมมติฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ไว้ 3 ประการ คือ มนุษย์มีความต้องการไม่มีสิ้นสุด การกระทำของมนุษย์เพื่อเติมเต็มในความต้องการที่ยังไม่พึงพอใจ และความต้องการมีเป็นลำดับขั้นจากต่ำไปสูง (รายละเอียดไว้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์)
Douglas McGregor ได้พัฒนาทฤษฎี X และ Y โดยมีสมมติฐานเกี่ยวกับทัศนะของผู้บริหารที่มีต่อคนงาน ซึ่งทัศนะดังกล่าวจะส่งผลต่อพฤติกรรมการบริหารด้วย
ทฤษฎี X: คนไม่ชอบทำงาน หลีกเลี่ยงงาน คนส่วนใหญ่ต้องการให้บังคับ ควบคุม สั่งหรือขู่เข็ญลงโทษเพื่อให้ได้งานตามเป้าหมาย คนโดยทั่วไปหลบหลีกความรับผิดชอบ ไม่มีความทะเยอทะยาน แต่ชอบแสวงหาความมั่นคงเหนือสิ่งอื่นใด
ทฤษฎี Y: คนส่วนใหญ่ใช้ความพยายามในการทำงานทั้งทางร่ากายและจิตใจเสมือนการเล่นหรือการพักผ่อน คนจะชี้นำตนเองให้บรรลุจุดหมายตามที่ตนผูกพัน การควบคุมขู่เข็ญมิได้เป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้งานบรรลุเป้าหมาย ความผูกพันกับจุดหมายขึ้นอยู่กับรางวัลที่จะควบคู่ไปกับความสำเร็จของเขาด้วย คนแต่ละคนสามารถแสดงความคิดริเริ่มใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาขององค์กร ศักยภาพด้านสติปัญญาของคนส่วนใหญ่ยังมิได้ถูกนำมาใช้เต็มที่
4)      หลักพฤติกรรมศาสตร์ จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า Maslow และ McGregor ตลอดจนคนอื่น ๆ ได้
พยายามจะหาคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลว่าคนเป็นมนุษย์สังคมที่มีความต้องการที่หลากหลาย ดังนั้นจึงเกิดหลักการพฤติกรรมศาสตร์ขึ้นโดยเน้นการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ในองค์กรที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหาร
o   ทฤษฎีการบริหารทัศนะเชิงปริมาณ (Quantitative viewpoint)
การบริหารเชิงปริมาณเกิดขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองโดยนักวิชาการชาวอังกฤษจำนวนหนึ่งประกอบด้วย นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และอื่น ๆ ได้รวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาทางสงคราม โดยใช้หลักการที่สำคัญ คือ การบริหารศาสตร์ การบริหารปฏิบัติการ และระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร
1)      การบริหารศาสตร์ (management science) ยึดหลักการที่มุ่งเพิ่มความมีประสิทธิผลในการตัดสินใจ จาก
การใช้ตัวแบบทางคณิตศาสตร์ และวิธีการเชิงสถิติ ซึ่งแพร่หลายอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากความก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์ ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างสลับซับซ้อนมากขึ้น
2)      การบริหารปฏิบัติการ (operations management) ยึดหลักการที่เน้นการบริหารกระบวนการผลิตและการ
ให้บริการขององค์การให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย การกำหนดตารางการทำงาน การวางแผนการผลิต การอกแบบอาคารสถานที่ ตลอดจนการประกันคุณภาพ โดยอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ ในการบริหารงาน เช่น เทคนิคการทำนายอนาคต (forecasting) การวิเคราะห์รายการ (inventory analysis) ตัวแบบเครือข่ายการทำงาน (networking models) ตลอดจนเทคนิคการวางแผนและการควบคุมโครงการ (project planning and controlling techniques)
3)      ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (management information system) ยึดหลักการที่เน้นการออกแบบและ
การนำเอาระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อการบริหาร ผลิตข้อมูล (data) และสารสนเทศ (information) ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารทุกระดับ
o   ทฤษฎีการบริหารทัศนะร่วมสมัย (Contemporary viewpoint)
1)      การบริหารตามทฤษฎีเชิงระบบ (System theory) ทฤษฎีนี้พัฒนาขึ้นโดยนักชีววิทยาและนักฟิสิกส์ ซึ่ง
ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่าองค์การหนึ่ง ๆ สามารถมองเป็นระบบหนึ่ง ๆ ได้ โดยระบบหนึ่ง ๆ หมายถึงชุดขององค์ประกอบที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นเอกภาพเพื่อมุ่งสู่จุดหมายองค์การร่วมกัน ระบบแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ระบบเปิดและระบบปิด ซึ่งทั้งสองระบบจะถูกแบ่งเป็นระดับขึ้นกับความเป็นระบบเปิดตามคุณลักษณะ 9 ประการข้างล่าง หมายความว่า ถ้าระบบใดมีคุณลักษณะต่าง ๆ มากก็จะมีความเป็นระบบเปิดมาก แต่ถ้าระบบใดมีคุณลักษณะต่าง ๆ น้อย ก็จะถือว่าเป็นระบบเปิดน้อย (มีความเป็นระบบปิดมากนั่นเอง)
-          มีปัจจัยป้อนเข้าจากภายนอก ได้รับสิ่งกระตุ้น ข้อมูลข่าวสาร และพลังงานจากภายนอก
-          มีกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง มีการปฏิบัติงาน และก่อให้เกิดผลผลิต
-          มีปัจจัยป้อนออก เป็นผลผลิตหรือการบริการสู่ภายนอก
-          มีวงจรอย่างต่อเนื่องของปัจจัยป้อนเข้า-กระบวนการ-ปัจจัยป้อนออก
-          มีการต่อต้านแนวโน้มสู่ความเสื่อม ระบบทุกระบบมีแนวโน้มจะเสื่อมลง แต่ระบบเปิดจะพยายามหาวิธีการเพื่อลดความเสื่อม
-          มีข้อมูลย้อนกลับเพื่อปรับตัวมิให้เกิดสภาวะความไม่สมดุล
-          มีแนวโน้มสู่ความสลับซับซ้อนมากขึ้น มีความเฉพาะทางมากขึ้น และมีองค์ประกอบหายหลายมากขึ้น
-          มีหลายเส้นทางที่จะทำให้บรรลุจุดหมายได้ และระบบเปิดจะหาทางเลือกที่เหมาะสม
2)      ทฤษฎีการบริหารตามสถานการณ์ (Contingency theory) เชื่อว่าหลักการบริหารงานที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับ
สถานการณ์หนึ่ง ๆ เท่านั้น ไม่สามารถนำเอาชุดของหลักการที่กำหนดไว้แบบสำเร็จรูปแล้วไปใช้ได้ผลในทุกสถานการณ์ ในสถานการณ์ที่แตกต่างไปผู้บริหารอาจกำหนดหลักการเพื่อเป็นเงื่อนไขหรือแนวการบริหารในสถานการณ์นั้น ๆ ได้ โดยอาจบูรณาการจากทฤษฎีต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับโครงสร้างองค์กร ทรัพยากร เป้าหมาย และผู้ปฏิบัติงานในองค์กร
3)      ทัศนะที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging views) ในระยะปัจจุบันได้เกิดทฤษฎีทางการบริหารขึ้นใหม่อีกหลายทฤษฎี ได้แก่
ทฤษฎี Z เป็นหลักการบริหารแบบญี่ปุ่น พัฒนาโดย William Ouchi จากการบูรณาการหลักการแบบอเมริกันเข้ากับหลักการแบบญี่ปุ่น มีหลักสำคัญคือ ความมั่นคงในงาน การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รับผิดชอบเป็นปัจเจกบุคคล เพิ่มคุณภาพ  มีนโยบายความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เน้นการควบคุมแบบไม่เป็นทางการ เปิดโอกาสในอาชีพที่กว้างขึ้น และความมีคุณภาพชีวิตทั้งในการทำงานและครอบครัว
ทฤษฎีการบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management; TQM) หรือนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า TQM มุ่งความสำคัญไปที่ความรับผิดชอบต่อการผลิตหรือการให้บริการที่มีคุณภาพร่วมกัน กระตุ้นให้คนงานแต่ละฝ่ายมุ่งพัฒนาคุณภาพของงาน มีพันธะผูกพันกับองค์กร แนวคิดนี้เริ่มต้นในอเมริกา และ W. Edwards Deming ได้นำมาพัฒนาใช้ในญี่ปุ่น โดยกำหนดหลัก 14 ประการเพื่อพัฒนาคุณภาพของงานขึ้น โดยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่นักบริหารโดยเฉพาะในระดับสูงต้องกระทำ ได้แก่
-          ให้มีพันธะผูกพันระยะยาว เพื่อปรับปรุงผลผลิตและการบริการ
-          ให้นำปรัชญาใหม่ ๆ มาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพ
-          สร้างคุณภาพกับผลผลิตเป็นอันดับแรก
-          สร้างความจงรักภักดีและความเชื่อถือระยะยาว
-          ปรับปรุงระบบการผลิตและการให้บริการอยู่เสมอ
-          ให้มีการอบรมบุคลากร
-          ให้มีสภาวะความเป็นผู้นำ
-          ขจัดบรรยากาศแห่งความกลัว
-          ทำงานด้วยความเป็นสุข
-          ขจัดอุปสรรคระหว่างหน่วยงานเพื่อความเป็นทีม
-          ขจัดคำขวัญหรือคำชักชวนเพื่อให้ปรับปรุงคุณภาพ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้คุณภาพและการผลิตตกต่ำ
-          ขจัดการใช้มาตรฐานการทำงานและเป้าหมายเชิงปริมาณกับระดับล่าง แต่ใช้ภาวะผู้นำแทน
-          เปลี่ยนจุดเน้นจากมุ่งปริมาณเป็นมุ่งคุณภาพ
-          มีแผนงานให้การศึกษาและการพัฒนาตนเอง
-          ให้ยึดถือการเปลี่ยนแปลงเป็นภาระกิจแห่งตน
การบริหารแบบเน้นวัตถุประสงค์ (Management by Objectives; MBO) พัฒนาขึ้นโดย Peter Ducker ซึ่งให้นิยามไว้ว่า เป็นหลักของการบริหารที่จะจัดให้แต่ละบุคคลได้ทำงานและมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ มีทิศทางในการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนแน่นอน มีการทำงานเป็นทีม โดยคำนึงถึงหลักการ ได้แก่ ความสำเร็จของกิจการใด ๆ ขึ้นกับทุกคนต้องเข้าใจวัตถุประสงค์รวมขององค์กร และวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน การมีส่วนร่วม (participation) การให้ข้อมูลย้อนกลับ (feedback) และการกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน (time schedule)
การรื้อปรับระบบ (Reengineering) เป็นแนวคิดของ Micheael Hammer & James Champy ให้นิยามไว้ว่า หมายถึง การสร้างใหม่ เริ่มต้นใหม่ โดยเน้นไปที่การปรับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลง ประสบการณ์ ตลอดจนวิทยาการต่าง ๆ ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าสูงสุดแก่ลูกค้า
o   รูปแบบการบริหารแบบอื่น ๆ
องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เป็นรูปแบบขององค์กรในอนาคตที่จะต้องพร้อมรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เป็นองค์กรที่ขยายขอบเขตความสามารถในการสร้างอนาคตขององค์กรอย่างต่อเนื่องโดยการเรียนรู้ เพื่อความอยู่รอด เพื่อการปรับตัว และเพื่อการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในองค์กรแห่งการเรียนรู้จะต้องสนับสนุนให้บุคลากรทั้งหมดขององค์กรมีศักยภาพในการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ทันสมัย ผู้บริหารในองค์กรแห่งการเรียนรู้จึงต้องรู้จักฟัง (Listen) จูงใจ (Motivate) สอนงาน (Coach) และถนอมรักษา (Nurture) พนักงานของตนแทนที่จะสั่งการ ซึ่งในบางครั้งจะใช้กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management; KM)
ธรรมะในการทำงาน (Workshop Spirituality) องค์กรในอนาคตจะไม่เป็นเพียงสถานที่ที่ผู้คนก้มหน้าก้มตาทำงานแลกกับค่าตอบแทนเท่านั้น แต่ควรเป็นสถานที่ที่มีความหมายต่อจิตใจของพนักงานที่ซึ่งจะให้ความรัก สามัคคี ความอบอุ่น เอื้ออาทรต่อกัน เหมือนบ้านที่สอง เป็นที่รวมของจิตวิญญาณของพนักงาน ผู้บริหารองค์กรอาจจัดให้มีการอบรมให้ความรู้ทางธรรมะ ฝึกสมาธิ ให้พนักงานเข้าใจสัจจธรรมของชีวิตเพื่อให้ที่ทำงานเป็นสถานที่ซึ่งพนักงานรู้สึกผูกพัน และทำงานอย่างเป็นสุข
o   บทส่งท้าย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าหลักการ หรือทฤษฎีทางการบริหารมีวิวัฒนาการมายาวนาน และมีความแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามดังที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้นว่า การบริหาร เป็นทั้ง ศาสตร์ ศิลป์ และอาชีพ ซึ่งอาจต้องใช้หลายหลักการร่วมกัน และไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ว่าวิธีการใดดีที่สุด ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกฝนหรือการปฏิบัติจริง จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น